3 ข้อคิดเมื่อใช้วัสดุเลียนแบบไม้

วันที่ : 09/11/2018   จำนวนผู้ชม : 1,469

 

ปัจจุบันมีวัสดุเลียนแบบวัสดุธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าวอลล์เปเปอร์ลายอิฐ กระเบื้องลายหิน พลาสติกลายไม้ ฯลฯ และวัสดุที่ดูถูกคอกับบ้านพักอาศัยจนถูกลอกเลียนแบบมากที่สุด ยังคงต้องยกให้เป็นไม้อยู่ดี ในตลาดวัสดุก่อสร้าง เราจะเจอ กระเบื้องลายไม้ อลูมิเนียมลายไม้ พลาสติกลายไม้ ฯลฯ ได้ไม่ยากเย็น

แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ใช่ไม้อยู่ดี

1. เลียนแบบแค่ผิว เนื้อในไม่ใช่
เช่น กระเบื้องลายไม้ อาจมีสีสันและความหยาบแบบไม้ แต่อุณหภูมิและสัมผัสยังคงให้ความรู้สึกกระด้างอยู่ดี เพราะสิ่งที่ทำให้ดูเหมือนไม้เป็นเพียงลวดลายสีสัน การส่งถ่ายอุณหภูมิของมันก็ยังคงเป็นกระเบื้อง

นอกนั้นยังมีคุณสมบัติอื่นที่ทำให้มันไม่ใช่ไม้อยู่ดี เช่น เมื่อโดนขูดขีดกะเทาะก็จะเห็นเป็นสีเนื้อกระเบื้อง ไม่เหมือนไม้ที่สามารถขัดลอกผิวได้ กรณีนี้ยังรวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่แค่พิมพ์ลายไม้ลงไป เช่น แผ่นลามิเนตลายไม้ อลูมิเนียมลายไม้ ถ้าโดนขูดขีด หรือมองดูตรงสันวัสดุ ก็จะเห็นชัดว่าไม่ใช่ไม้

2. เลียนแบบลาย แต่ไม่หลากหลายพอ
ส่วนธรรมชาติของไม้จริงอีกอย่างที่การพิมพ์ลายต้องใช้ความพยายามในการลอกเลียนคือ ลายไม้แต่ละชิ้นจะไม่เหมือนกัน ทำให้ลายไม้ดูมีเสน่ห์ เพราะลวดลายไม้จะดูสุ่มไปมา ดูเป็นวัสดุเดียวกันที่มีลายคล้ายๆ กันแต่ไม่ซ้ำกัน

วัสดุบางชนิดที่ลอกเลียนลายไม้ดูดีมากเมื่ออยู่บนพื้นที่เล็กๆ เพราะเลือกพิมพ์ลวดลายได้สวยงาม แต่ทำมา 1 ลายต่อวัสดุ 1 ชิ้นเท่านั้น พอต่อกันเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ จะดูตลกทันที เพราะลายไม้ที่พิมพ์บนวัสดุนั้นๆ เกิด Pattern ซ้ำๆ กันขึ้นมา ดูไม่เป็นธรรมชาติอย่างแรง

วัสดุที่ลอกเลียนไม้ได้แนบเนียนหน่อยก็ทำลวดลายไม้ที่หลากหลาย และมีการคละลาย หรือออกแบบแม่พิมพ์ลายไม้ผืนใหญ่พอสมควรขึ้นมา แล้วเลือกพิมพ์ลายลงวัสดุนั้นแบบสุ่ม เมื่อติดตั้งก็จะได้ Pattern ที่ไม่ซ้ำกัน ดูเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามีรูปแบบลายสุ่มไม่มากนัก ก็ต้องอาศัยฝีมือในการสุ่มติดตั้งแต่ละชิ้นไม่ให้เกิดลายเหมือนกันอยู่ใกล้ๆ กัน

3. ลายเหมือน เนื้อคล้าย แต่ความแข็งแรงแตกต่าง
นอกจากนั้นยังมีวัสดุประเภทไม้เทียมที่ดูคล้ายไม้มาก เพราะมีเนื้อเป็นสีไม้ทั้งเนื้อวัสดุ วัสดุพวกนี้มีมากมายหลายประเภท บางชนิดผลิตจาก PVC บางชนิดผลิตจาก UPVC บางชนิดผลิตจากเศษไม้แท้กับสารเคมีผสมกัน บางชนิดมีเนื้อตันก็จะสามารถ ตัด ไส ตอก เข้ามุมได้เหมือนไม้ บางชนิดมีเนื้อเป็นรูโปร่งต้องใช้ตามขนาดและรูปแบบที่มีเท่านั้น มีข้อจำกัดในการตัดแต่งไส หรือทำผิว

ข้อควรระวังของการใช้วัสดุประเภทนี้คือ โดยตัวเนื้อวัสดุเองมันไม่ใช่ไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความแข็งแรงไม่เท่าไม้จริง เพราะไม้จริงเกิดจากเส้นใยธรรมชาติเส้นยาวที่เกาะประสานกัน จะมีความเหนียวมากกว่าวัสดุประเภทพลาสติก หรือเรซิ่น

การใช้ไม้เทียมแบบนี้ทำราวกันตก ทำพื้น ทำระแนง มักจะต้องมีตัวยึดโครงที่ถี่กว่าเดิม หรือไม่ก็ต้องมีเหล็กเสริมภายใน หรือเสริมด้านหลังถี่กว่าการใช้ไม้จริง

ยกตัวอย่างอย่างเช่น การใช้ไม้จริงความหนา 1 นิ้วทำพื้นบ้านต้องใช้ระยะตงทุกๆ ประมาณ 40 – 60 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นไม้เทียม ระยะตงจะต้องใกล้กันมากขึ้นเป็น 30-40 เซนติเมตร หากใช้ระยะห่างกันมากกว่านี้จะเกิดอาการพื้นหัก!

หรือถ้าใช้ท่อนไม้เทียมทำราวกันตก ก็จะต้องมีระยะราวตั้งไว้รับราวกันตกแนวนอนที่ถี่มากกว่าการใช้ไม้จริง หรือไม่ก็ต้องเสริมเหล็กข้างใต้ไม้เทียม มิเช่นนั้นราวจะแอ่นหรือหัก! เช่นกัน

ช่างหรือนักออกแบบหลายคนที่ไม่มีประสบการณ์และไม่รอบคอบพออาจจะเข้าใจผิดได้ เพราะรูปร่างและคุณสมบัติของไม้เทียมประเภทนี้มันใกล้ไม้เสียเหลือเกิน จนหลงใช้ความเคยชินในการทำงานไม้มาใช้กับไม้เทียม

ทุกครั้งที่จะใช้ไม้เทียมจึงควรตรวจสอบคุณสมบัติจากผู้ผลิตให้แน่ชัด ว่าที่บอกว่าเหมือนไม้จริงอย่างนั้นอย่างนี้ หมายถึงหน้าตา หรือคุณสมบัติด้านใดบ้าง และด้านใดบ้างที่ไม่เหมือนกัน